Last updated: 26 ม.ค. 2561 | 4761 จำนวนผู้เข้าชม |
ปกติแล้วเรามักเรียกตุ่มหรือผื่นแดงๆ ที่เกิดขึ้นบนผิวว่า “ผดผื่น” แต่ความจริงแล้วนั้น “ผด” กับ “ผื่น” มีความแตกต่างที่อาการแสดงและสาเหตุการเกิดที่แตกต่างกัน
“ผด” นิยมใช้กับลักษณะอาการแสดงที่เป็นเม็ดเล็กๆ ที่เกิดจากการอุดตันของท่อเหงื่อ จึงมีการใช้ร่วมไปกับคำว่า “ผดร้อน” ในขณะที่ “ผื่น” มีความหมายและสาเหตุที่แตกต่างมากกว่า มีอาการแสดงที่มีความหลากหลายเช่น ผื่นเม็ดเล็ก สาก แดง ผื่นนูนหนา ลักษณะเป็นปื้นขนาดเล็กใหญ่ หรือเป็นตุ่มน้ำ ตุ่มหนอง เป็นต้น
ผดร้อน (Heat rash) คืออะไร
ผดร้อนในเด็ก เกิดจากการอุดตันของท่อระบายเหงื่อ ซึ่งมักเกิดอาการในช่วงที่มีอากาศร้อน เพราะร่างกายต้องการระบายความร้อนด้วยเหงื่อผ่านทางท่อเหงื่อ แต่โครงสร้างผิวหนังของเด็กยังไม่สมบูรณ์และหรือมีสาเหตุอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ภาวะเหงื่อออกมากจากกิจกรรมการเล่นของเด็ก สภาพอากาศที่ร้อน การทาสารให้ความชุ่มชื้นบนผิวหนังปริมาณมากเกินไป การแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่หนาเกินไปไม่เหมาะสม การห่อตัวเด็กเล็ก ก่อให้เกิดการอุดตันของท่อระบายเหงื่อที่ชั้นผิวหนัง
“ผดร้อน” จะแบ่งออกเป็น 3 ชนิดคือ ผดที่มีลักษณะเหมือนหยดน้ำขนาดเล็ก มีสีใส ผดที่มีลักษณะเป็นเม็ดสีแดง และผดที่มีลักษณะเหมือนตุ่มหนอง ความแตกต่างของผดแต่ละชนิดเกิดจากการอุดตันของท่อระบายเหงื่อในชั้นผิวหนังที่มีความลึกแตกต่างกัน ถ้าอุดตันที่ผิวหนังชั้นตื้นจะเห็นเป็นผดเม็ดเล็กมีสีใส ซึ่งหลุดลอกออกเป็นขุยสีขาวได้ง่าย ถ้าอุดตันภายในผิวหนังชั้นหนังกำพร้าจะเห็นเป็นผดเม็ดสีแดง อาจมีอาการคันร่วมด้วย จะมีสีแดงมากขึ้นถ้าอยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว และถ้าอุดตันในผิวหนังระดับลึกลงไปจะเห็นเป็นผดสีขาวเหมือนตุ่มหนอง บริเวณที่มักจะเกิดผดร้อนจะเป็นบริเวณผิวหนังที่มีท่อระบายเหงื่อจำนวนมากเช่น บริเวณหน้าผาก หน้าอก หลัง คอ ข้อพับ ขอบเอว และบริเวณเสียดสีกับเสื้อผ้าบ่อยๆ อาจพบอาการคันร่วมด้วย
“ผื่น” ในเด็ก
“ผื่น” ในเด็กเป็นปฏิกิริยาของร่างกายต่อสาเหตุต่างๆ ทำให้เกิดอาการแสดงทางผิวหนังที่มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นผื่นเม็ดสีแดงขนาดเล็ก หรือเป็นปื้นขนาดใหญ่ ตุ่มน้ำขนาดเล็ก ตุ่มหนอง เป็นต้น สาเหตุที่ทำให้เกิด “ผื่น” มีหลากหลาย ได้แก่ การติดเชื้อ การแพ้สัมผัส การระคายเคือง ผิวแห้งขาดความชุ่มชื้น ผิวหนังอักเสบ โรคในระบบต่างๆ ของร่างกาย หรือไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด
ภาวะผื่นผิวหนังอักเสบที่พบได้บ่อยในเด็กเล็กคือ “ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (atopic dermatitis/ atopic eczema)” ซึ่งมีสาเหตุเกิดจากหลายปัจจัยเช่น พันธุกรรม ความอ่อนแอของผิวหนังที่เกิดจากการขาดไขมันในชั้นผิวหนัง ทำให้ผิวแห้ง ขาดความชุ่มชื้น ก่อให้เกิดปฏิกิริยาและไวต่อการติดเชื้อที่ผิวหนัง สารระคายเคือง สารก่อการแพ้ เป็นต้น จากสถิติพบว่า ร้อยละ 90 ของเด็กที่มีภาวะผื่นภูมิแพ้ผิวหนังจะมีอาการแสดงภายในอายุ 5 ปี ในขณะที่ร้อยละ 80 จะมีอาการแสดงภายในอายุ 2 ปี และพบว่าส่วนใหญ่จะมีอาการรุนแรงลดน้อยลงเมื่อได้รับการดูแลอย่างถูกต้องและตามอายุที่เพิ่มขึ้น แต่ยังพบภาวะผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในผู้ใหญ่ได้ประมาณร้อยละ 5 อาการแสดงของโรคนี้คือ ผิวหนังสากแห้ง แดงอักเสบ คันเกาเป็นขุย และหรือเป็นรอยสาก เม็ดเล็กๆ เป็นตุ่มน้ำ และหรือมีรอยถลอกที่เกิดจากอาการคันเกา
เมื่อดูจากสาเหตุของ “ผดร้อน” มีความแตกต่างกับ “ผื่น” ดังนั้นคุณแม่ควรจัดการกับ “ผดร้อน” และ “ผื่น” ให้ถูกต้อง โดยควรจัดการสาเหตุของอาการ เช่น “ผดร้อน” มีวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ง่ายๆ คือ คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้เด็กอยู่ในอากาศที่ร้อนชื้น พยายามอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี รวมถึงเลือกเสื้อผ้าให้เหมาะสมกับฤดูกาล เลือกผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับผิวหนังให้เหมาะสม และลดการใส่ผ้าอ้อมหรือควรเปลี่ยนผ้าอ้อมบ่อยๆ ถ้าเลอะปัสสาวะอุจจาระเพื่อป้องกันการอับชื้น
สำหรับการดูแลและป้องกัน “ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง” คุณแม่มีความจำเป็นต้องแก้ไขสาเหตุของการกระตุ้นให้เกิดผื่น เช่น ป้องกันการติดเชื้อของผิวหนัง ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ก่อให้เกิดอาการแพ้สัมผัสและการระคายเคือง ควรอาบน้ำทำความสะอาดผิวเด็กให้ถูกต้องเหมาะสม เพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวลูกน้อยด้วยการทาสารให้ความชุ่มชื้นผิวหนังเป็นประจำทุกวัน เพื่อให้เซลล์ผิวหนังของเด็กแข็งแรงขึ้นตามธรรมชาติ ส่วนวิธีการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบที่เหมาะสม ช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้แก่ชั้นผิวหนัง และลดอาการอักเสบและการระคายเคืองของผิว การทาสารให้ความชุ่มชื้นผิวหนังยังเป็นการป้องกันการกำเริบของผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอีกด้วย
เมื่อคุณแม่ทราบสาเหตุและวิธีการดูแลผิวของลูกน้อยแล้ว ควรเสริมสร้างเกราะป้องกันผิวของเด็กให้แข็งแรงโดยการทาครีมบำรุงผิวให้ลูกน้อยเป็นประจำนะครับ
โดย ผศ.นพ. เทอดพงศ์ เต็มภาคย์
ตารางตรวจ: ทุกวันจันทร์ และ พุธ ที่ เดอเมช คลินิก
ปรึกษา คิวตรวจ : 0836699449 Line: demedclinic1
31 ธ.ค. 2567