Last updated: 8 ต.ค. 2564 | 1492 จำนวนผู้เข้าชม |
การเลือกผลิตภัณฑ์สำหรับทาป้องกันผื่นผ้าอ้อม
รศ.นพ.เทอดพงศ์ เต็มภาคย์ (ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
ผื่นผ้าอ้อม คืออะไร
ผื่นผ้าอ้อม หมายถึง ผื่นที่เกิดขึ้นในบริเวณที่สวมผ้าอ้อมซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ ที่พบบ่อยคือ ผื่นที่เกิดจากการสัมผัสสารระคายเคืองต่าง ๆ เช่น ความอับชื้นจากเหงื่อ ปัสสาวะ คราบอุจจาระ จากการสัมผัสเป็นเวลานานและการเสียดสี ส่วนใหญ่ผื่นจะสัมพันธ์กับการสวมผ้าอ้อม
ตารางตรวจ: ทุกวันจันทร์ และวันพุธ ที่ เดอเมช คลินิก
สอบถามข้อมูล/จองคิวนัดตรวจ: 0836699449
Line: DeMedclinic1
อาการแสดงของผื่นผ้าอ้อม
ในระยะแรก ผิวหนังจะเป็นผื่นแดงตามส่วนนูนที่สัมผัสกับผ้าอ้อมที่เปียกชื้น อาจพบรอยถลอกเล็กน้อย บริเวณไม่กว้างมาก ถ้าเป็นมากขึ้น จะพบผื่นจะแดงขยายขนาดและรอยถลอกกว้างขึ้น หรือเกิดตุ่มนูน ตุ่มน้ำ ตุ่มหนอง และพบรอยถลอกขยายเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามหลังการเกิดผื่นผ้าอ้อมได้หลายอย่าง เช่น การติดเชื้อราแคนดิดาจากความอับชื้น การติดเชื้อแบคทีเรียทำให้เกิดตุ่มน้ำพองจากความอับชื้นและเสียดสี เป็นต้น
เอนไซม์ protease กับการเกิดผื่นผ้าอ้อม
เป็นเอนไซม์ที่พบในอุจจาระ มีหลายประเภท เช่น ทริปเทส (tryptase) อัลฟา คีโมทริปเทส (alpha chemotryptase) และอีลาสเทส (elastase) ซึ่งหลั่งออกมาจากกระเพาะอาหาร ตับอ่อนและลำไส้เล็ก แต่เอนไซม์ดังกล่าวจะลดความเป็นกรดลงเมื่อเคลื่อนผ่านลำไส้ใหญ่ ดังนั้น เมื่อมีเหตุที่ทำให้มีการผ่านของเอนไซม์อย่างรวดเร็วมาที่ทวารหนัก เช่น ท้องเสีย ถ่ายเหลว หรือมีการผ่าตัดลำไส้ จะทำให้บริเวณขาหนีบและก้นเกิดการระคายเคืองและแดงอักเสบได้
คุณสมบัติของการย่อยสลายโปรตีน (proteolytic activity) ดังกล่าวจะพบในเด็กทารกและเด็กเล็ก มากกว่าในผู้ใหญ่
การรักษาภาวะผื่นผ้าอ้อม
การดูแลรักษาภาวะผื่นผ้าอ้อมที่เป็นมาตรฐาน คือ การลดความอับชื้นจากการใส่ผ้าอ้อม ป้องกันไม่ให้ผิวหนังบริเวณนั้นเปียก หรือสัมผัสกับอุจจาระ ปัสสาวะเป็นเวลานาน การทำความสะอาดที่เหมาะสม การเปลี่ยนผ้าอ้อมบ่อยขึ้นเมื่อเปียกแฉะ รวมถึงหลีกเลี่ยงการใช้ผ้าอ้อมที่ทำจากวัสดุจำพวกพลาสติก สี หรือวัสดุจำพวกยาง และสารอื่นที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองและการแพ้สัมผัส
การเลือกผลิตภัณฑ์ทาเพื่อป้องกันผื่นผ้าอ้อม
การเลือกผลิตภัณฑ์ทาป้องกันผื่นผ้าอ้อมที่เหมาะสมจะช่วยป้องกันการเกิดผื่นผ้าอ้อม มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนังบริเวณนั้น ลดการสูญเสียสารน้ำ ลดการเสียดสี สัมผัสกับสารระคายเคือง สารที่เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวควรมีคุณสมบัติในการปกป้องผิวจากการสูญเสียน้ำ ให้ความชุ่มชื้น อ่อนโยน ไม่แพ้ง่าย ปราศจากน้ำหอมหรือสารระคายเคือง และหรือมีสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่ไม่ระคายเคืองผิวหนัง เป็นต้น
สารประกอบที่สำคัญของครีมทาเพื่อป้องกันการเกิดผื่นผ้าอ้อม
สารประกอบที่เป็นที่นิยม ได้แก่ ซิงค์ ออกไซด์ (zinc oxide) ในรูปแบบครีมหรือขี้ผึ้ง ซึ่งมีบทบาทในกระบวนการซ่อมแซมบาดแผล (wound healing) ปิโตรเลียม เจลลี่ (white petrolatum jelly) ในรูปแบบขี้ผึ้งจะทำหน้าที่เป็นชั้นฟิล์มเคลือบอยู่บนผิวหนังและสามารถซึมลงในผิวหนังชั้นหนังกำพร้าชั้นบน เพื่อปกป้องผิวหนัง ลดการสูญเสียน้ำ และลดการเสียดสี
นอกจากนั้น อาจพิจารณาเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารประกอบของวิตามินบี 5 (dexpanthenol) ที่ช่วยให้ความชุ่มชื้น ปกป้องผิวหนัง และช่วยซ่อมแซมผิวหนังที่กำลังมีบาดแผล และอาการอักเสบ และควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีสารกันบูด น้ำหอม หรือสารประกอบอื่นที่อาจก่อให้เกิดการแพ้หรือการระคายเคือง
ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์หลากหลายประเภทสำหรับทาเพื่อป้องกันผื่นผ้าอ้อมในเด็ก เช่น ครีมทาผื่นผ้าอ้อมที่มีสารประกอบของสารยับยั้งเอนไซม์โปรทีเอส (protease-enzyme inhibitors) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ในอุจจาระที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองโดยเฉพาะในเด็กทารก หรือเด็กเล็ก ที่ผลิตมาจากสารสกัดตามธรรมชาติ (potato-derived protease inhibitors) นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลรายงานผู้ป่วยที่ใช้ครีมทาผื่นผ้าอ้อมดังกล่าวและแสดงประสิทธิภาพของการนำมาใช้รักษาผื่นผ้าอ้อมในเด็กที่ได้รับการผ่าตัดสำไส้ใหญ่ที่ทำให้มีเอนไซม์จำนวนมากระคายเคืองแล้วทำให้เกิดการอักเสบรอบทวารหนัก (perianal dermatitis)
ผู้ปกครองควรมีความรู้ในการเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม เพื่อปกป้องลูกน้อยจากความอับชื้น คราบอุจจาระ ปัสสาวะ หรือสารระคายเคืองที่อาจก่อให้เกิดผื่นผ้าอ้อมได้
เอกสารอ้างอิง
1. Klunk C, Domingues E, Wiss K. An update on diaper dermatitis. Clin Dermatol 2014;32:477–87.
2. Proksch E, de Bony R, Trapp S, et al. Topical use of dexpanthenol: a 70th anniversary article. J Dermatolog Treat 2017;28(8):766-73.
3. Berger S, Rufener J, Klimek P, et al. Effects of potato-derived protease inhibitors on
perianaldermatitis after colon resection for long-segment Hirschsprung’s disease. World J Pediatr 2012;8(2):173-6.
ตารางตรวจ: ทุกวันจันทร์ และวันพุธ ที่ เดอเมช คลินิก
สอบถามข้อมูล/จองคิวนัดตรวจ: 0836699449
Line: DeMedclinic1