Last updated: 6 ก.ย. 2562 | 11841 จำนวนผู้เข้าชม |
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก Atopic Dermatitis (AD) โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ เทอดพงศ์ เต็มภาคย์
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังที่พบบ่อยที่สุดในเด็ก ลักษณะที่สำคัญของโรคคือ ผู้ป่วยจะผิวหนังแห้ง แดงอักเสบ มีลักษณะสาก ขุย ในตำแหน่งของร่างกายที่มีความจำเพาะเจาะจงและมีอาการคันมาก มักพบว่า มีผื่นขึ้นเป็นๆ หายๆ ผิวหนังจะไวต่อสิ่งกระตุ้นภายนอก เช่น เหงื่อ ความร้อน ความเย็น สารเคมีที่ระคายเคืองต่างๆ มีโอกาสติดเชื้อที่ผิวหนังได้ง่ายโดยเฉพาะการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัสร่วมกับการตอบสนองที่ผิดปกติของระบบภูมิต้านทานของร่างกาย
เนื่องจากโรคนี้ทำให้มีผิวหนังแห้งแดง คันมาก มักทำให้ผู้ป่วยเกาจนอาจทำให้เกิดอันตราย ทำให้รบกวนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ทั้งในแง่ของสุขภาพผิว ความสวยงามของผิวหนัง ความมั่นใจ มีอาการคันเกาจนรบกวนการนอนหลับหรือการเรียน รวมทั้งยังส่งผลถึงคุณภาพชีวิตของผู้ปกครองที่ต้องมาช่วยเหลือและดูแลผิวหนังเด็กด้วย
การดูแลรักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังสามารถทำได้โดย
1. การดูแลผิวพื้นฐานมีดังนี้ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
• ไม่ควรใช้น้ำที่อุ่นหรือร้อนจนเกินไป และไม่ขัดถูผิวแรงๆ ขณะอาบน้ำ
• เลือกใช้สบู่อ่อนๆ ที่เหมาะสมกับผิวแพ้ง่าย ไม่ควรฟอกสบู่บ่อยเกินไป ไม่ควรใช้สบู่ที่มีความเป็นกรดหรือด่างรุนแรง
• เลือกใช้เสื้อผ้าเนื้อนุ่ม โปร่ง ใส่สบาย ระบายความร้อนได้ดี ไม่ควรใส่เสื้อขนสัตว์ ผ้าเนื้อหนาหยาบจนเกินไป เพื่อลดการอับเหงื่อที่ทำให้เกิดอาการคันและระคายเคือง
• ควรดูแลผิวหนังให้มีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ ทาสารให้ความชุ่มชื้นผิวหนังหลังอาบน้ำทันที อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง โดยเลือกสารให้ความชุ่มชื้นผิวหนังชนิดที่อ่อนโยน เหมาะสมสำหรับผิวผู้ป่วย ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับผู้ป่วยผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเป็นจำนวนมาก ที่ให้ความชุ่มชื้น ไม่มีสารสเตียรอยด์ และมีเซรามายด์เพื่อทำให้ผิวหนังที่แห้งกลับมาชุ่มชื้น สมบูรณ์แข็งแรง ร่วมกับสารต้านฤทธิ์การอักเสบของผิวหนังที่ เพื่อช่วยลดอาการอักเสบ แดง ลดอาการคันทำให้ผิวชุ่มชื้นยาวนาน ปราศจากน้ำหอม สีและสารกันเสีย ไม่ทำให้เกิดอาการแพ้และระคายเคืองผิว
2. หลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้ผื่นกำเริบเป็นสิ่งสำคัญ ในทารกที่มีประวัติครอบครัวที่เสี่ยงต่อโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ควรแนะนำให้ดื่มนมมารดา และไม่รับประทานอาหารที่ทราบแน่ชัดว่าทำให้ผื่นกำเริบ
3. ทายาลดอาการอักเสบ ได้แก่ ยาทาสเตียรอยด์ หรือยาทากลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (topical calcineurin inhibitor: TCI) โดยทายาเฉพาะในตำแหน่งที่มีผื่นแดงอักเสบ เมื่ออาการทุเลาแล้วควรหยุดและควรทายาอยู่ในการดูแลของแพทย์เท่านั้น การทาติดต่อกันเป็นเวลานานอาจทำให้มีผลข้างเคียงเฉพาะที่และหรืออาการข้างเคียงที่รุนแรงได้
4. ในรายที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนเป็นตุ่มหนอง หรือน้ำเหลืองซึม ควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้การดูแล แนะนำการทำความสะอาดแผล อาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะชนิดทาหรือกินร่วมด้วย
5. ยาต้านฮีสตามีนอาจช่วยลดอาการคัน จะทำให้อาการคันลดลง ผู้ป่วยหลับได้ดีขึ้น เพราะการเกาจะทำให้ผื่นเป็นมากขึ้นหรือเกิดแผลถลอก และอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนตามมาได้
ในปัจจุบัน มีข้อมูลทางการแพทย์ที่ช่วยสนับสนุนว่า การใช้สารให้ความชุ่มชื้นผิวหนังอย่างรวดเร็วภายหลังการคลอดและใช้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ร่วมกับการดูแลผิวพื้นฐาน จะช่วยป้องกันและลดโอกาสการเกิดโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในเด็กที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคได้
ตารางตรวจเรื่องผิวหนังในเด็ก
โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ เทอดพงศ์ เต็มภาคย์
>> ตารางตรวจ: ทุกวันจันทร์ และ พุธ ที่ เดอเมช คลินิก
>> เพื่อความสะดวกของคุณแม่สามารถสอบถามข้อมูล/จองคิวนัดตรวจได้ที่เบอร์และ line พิเศษเพื่อการนัดตรวจกับอาจารย์เทอดพงศ์ได้ที่ 0836699449
>>Line: DeMedclinic1 (11.30-20.30 น.)
ผิวหนังเด็กมีความบอบบาง และเกิดโรคผิวหนังได้ง่าย ดังนั้น ต้องอาศัยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนังเด็กในการวินิจฉัยและการรักษา เพื่อให้ลูกน้อยมีสุขภาพผิวหนังที่ดี
https://www.facebook.com/1130043330386173/posts/2527176857339473?sfns=mo